จากที่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปปฏิบัติพระราชกรณียกิจในต่างประเทศ ทรงฉลองพระองค์ ที่ตัดเย็บด้วยผ้าไหมไทย ยังความชื่นชมและความวิจิตรบรรจงและลวดลายอันปราณีตที่สื่อแสดงถึงศิลปวัฒนธรรมซึ่งเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นแก่นานาประเทศซึ่ง นาง Takako kanomi ชาวญี่ปุ่น เห็นว่าผ้าไหมมัดหมี่เหมาะสำหรับทำเป็นกิโมโน จึงได้นำผ้าไหมมัดหมี่ชิ้นที่พอใจไปตัดเป็นกิโมโนใช้และต่อมาไต้ติดต่อขอให้มูลนิธิส่งเสริม ศิลปาชีพ นำเสื้อจากผ้าไหมมัดหมี่ไปแสดงที่ประเทศญี่ปุ่น ปรากฏว่ามีผู้สนใจมากหลังจากนั้นทางประเทศญี่ปุ่นได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชดำเนินและทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ สมเด็จพระเจ้าน้องนางเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณ์วลัยลักษณ์ อัครราชกุมารี กรมพระศรีสวางควัฒน วขัตติยราชนารี โดยเสด็จฯ ด้วย โดยในงานโปรดให้จัดนิทรรศการผ้าไหมมัดหมี่พร้อมทั้งการจัดจำหน่ายและการแสดงแบบเสื้ออีกด้วย นอกจากนี้ยังเผยแพร่ไปยังภูมิภาคอื่นด้วย
และในโอกาสที่คณะกรรมการ Friends of the Capital Children’s Museum ได้กราบบังคมทูลเชิญสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง เสด็จพระราชดำเนินไปทรงรับรางวัล Humanitarian Award of the Year (รางวัลมนุษยธรรมแห่งปี) ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยได้จัด พิธีทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลและถวายพระกระยาหารกลางวัน ณ Capital Children’s Museum เมื่อวันที่ ๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๔ การเสด็จพระราชดำเนินครั้งนี้ พระองค์ได้พบกับบุคคลสำคัญในระดับรัฐบาลของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งเป็นโอกาสที่ไทยได้เสริมสร้างความเข้าใจอันดีและเชื่อมสัมพันธไมตรีระหว่างประเทศให้ แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น ทาง Capital Children’s Museum ยังได้ขอพระราชทานให้ทรงนำผลิตภัณฑ์ศิลปาชีพไปแสดงในโอกาสนี้ด้วย ในงานนี้ได้มีการเชิญบุคคลสำคัญของ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. มาร่วมงานกว่าหนึ่งพันคน มีการแสดงแบบเสื้อโดยผู้แสดงกิตติมศักดิ์ ซึ่งเป็นสตรีชั้นนำของกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. และยังมีนิทรรศการเกี่ยวกับวัฒนธรรม ของประเทศไทยอีกด้วย
ใน ปีพุทธศักราช ๒๕๕๕ คณะกรรมการหม่อนไหมระหว่าง ประเทศ (International Sericultural Commission) ขอพระราชทาน พระบรมราชานุญาตทูลเกล้าฯ ถวายรางวัลหลุยส์ปาสเตอร์ แด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนี พันปีหลวง ในฐานะที่ทรงมีพระอัจริยภาพ พระปรีชาสามารถ และทุ่มเทเสียสละอุทิศพระวรกายศึกษาพัฒนาหม่อนไหมไทย และนานาประเทศ ตลอดจนอนุรักษ์ภูมิปัญญาทางงานด้าน ศิลปวัฒนธรรมและส่งเสริมสนับสนุนผ้าไหมไทยซึ่งถือเป็น เอกลักษณ์ของซาติ สามารถสร้างรายได้ความเป็นอยู่ของ เกษตรกรอาชีพที่มั่นคงและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน
ด้วยพระอัจฉริยะภาพและพระปรีชาสามารถทางศิลปศาสตร์ ซึ่งควบคู่ไปกับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการเกษตร อันก่อให้เกิด อุตสาหกรรมในครัวเรือน โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการทอผ้า ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมขนาดเล็กและขนาดย่อมในชนบท ช่วยดูดซับแรงานจากชนบทได้โดยไม่ต้องเดินทาง เข้าไปแสวงหางานทำในเมืองใหญ่ๆ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาของการอพยพย้ายถิ่นที่อยู่ของพลเมืองเข้าไปแน่นตามแหล่งอุตสาหกรรม การที่มีอุตสาหกรรมขนาดเล็กและ ขนาดย่อมขึ้นในชนบทนั้นย่อมเป็นแหล่งฝึกหัดงานผู้ไร้ฝีมือและมีการศึกษาน้อยให้สามารถหาความรู้และความชำนาญได้ ซึ่งทำให้สามารถสร้างผู้มีประสบการณ์ และความชำนาญในการทำงานขึ้น สามารถที่จะแยกตัวเองออกมาดำเนินกิจการใหม่ด้วยตนเองได้ต่อไป นับว่าเหมาะสมกับประเทศที่ขาดแคลนแรงงานที่มีฝีมือ และ ผู้ประกอบการที่มีประสบการณ์ นอกจากนี้การจัดตั้งอุตสาหกรรมขนาดเล็กในครัวเรือนนั้นสามารถทำได้ง่ายกว่าอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เนื่องจากมีการใช้เงินทุนน้อย ใช้แรงานฝีมือไม่มาก ใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นที่มีราคาไม่สูง ตลอดจนวิธีการผลิตซึ่งใช้แรงงานเป็นส่วนใหญ่ นับว่าเหมาะสมกับสภาพชนบทของประเทศไทย เมื่อประสบ ความสำเร็จแล้วก็สามารถที่จะเจริญเติบโตออกไปเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้ในอนาคต การที่ทรงจัดให้มีการอบรมศึกษาในวิชาชีพและก่อให้เกิดอุตสาหกรรม ในครัวเรือนขึ้น จึงเท่ากับเป็นการสร้างงานขึ้นในชนบทที่ก่อให้เกิดผลกระทบที่ดีงามเป็นลูกโซ่ต่อไปโดยไม่สิ้นสุด นับว่าเป็นหนทางแก้ปัญหาการกระจายรายได้พร้อม ทั้งอนุรักษ์ศิลปหัตถกรรม ภูมิปัญญาของท้องถิ่นที่ใกล้จะสูญหายไปอย่างมีประสิทธิภาพ
พระราชกรณียกิจของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้สะท้อนให้เห็นถึงความงดงาม ความประณีตด้วยพระปรีชาญาณและสายพระเนตรอันยาวไกล ตลอดจนพระคุณธรรมที่เปี่ยมล้นของพระองค์ที่มีต่อพสกนิกร ชาวไทยและเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ทำให้ผ้าไหมไทย มีชื่อเสียง แพร่หลายเป็นที่รู้จักและยอมรับของนานาประเทศ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมหม่อนไหม เห็นสมควร ถวายพระราชสมัญญา “พระมารดาแห่งไหมไทย”
แด่ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เพื่อประกาศพระเกียรติคุณให้ พสกนิกรซาวไทยและนานาประเทศได้รับทราบ เพื่อจารึกไว้ใน ประวัติศาสตร์ชาติไทยสืบไป
ที่มา : ๑.เอกสารประกอบประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่อง การถวายพระราชสมัญญา "พระมารดาแห่งไหมไทย"แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถเนื่องในโอกาส มหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๐. พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๕๕ โดยกรมหม่อนไหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
๒.หนังสือสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๘๘ พรรษา ๑๒ สิงหาคม ๒๕๖๓ (กระทรวงวัฒนธรรม จัดพิมพ์ พุทธศักราช ๒๕๖๓)