Skip to main content

ประเภทของผ้าไทย

ประเภทของผ้าไทย

ผ้าไหม

เส้นไยไหม ได้จากรังไหม ส่วนมากผลิตในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง มีในภาคใต้บ้างเล็กน้อย การผลิตเส้นไหม จะนำรังไหมมาต้ม แล้วสาวเส้นไหม จากนั้นจึงฟอกด้วยด่าง แล้วกวักให้เส้นไหมติดกันเป็นเส้นเดียวยาวตลอด และนำไปย้อมสีเพื่อทอเป็นผ้าต่อไป

ผ้าฝ้าย

ทอจากเส้นใยฝ้าย ซึ่งในไทยสามารถปลูกฝ้ายได้ทุกภูมิภาค เกษตรกรจะปลูกฝ้ายไปพร้อมการทำนา ประมาณเดือนพฤศจิกายน ถึงเดือนธันวาคม ฝ้ายจะแก่และแตกปุย นำมาผลิตเป็นใยฝ้าย เพื่อใช้ทอผ้าหลังฤดูเก็บเกี่ยวต่อไป

ผ้ามัดหมี่

เป็นผ้าที่ทอจากเส้นด้ายหรือไหมที่ผูกมัดแล้วย้อมสีเป็นลวดลายก่อนนำมาทอ มีทั้งทอด้วยฝ้ายและไหม ปัจจุบันยังทอจากเส้นใยวิทยาศาสตร์ เช่น เส้นใยโทเร (Toray) อีกด้วย ผ้ามัดหมี่มีลักษณะเฉพาะจากรอยซึมของสีที่วิ่งไปตามลวดลายที่มัด และการเหลื่อมสีในตำแหน่งของเส้นด้ายเมื่อนำขึ้นกี่ในขณะทอ การใช้ความแม่นยำในการมัดย้อม การขึ้นด้ายบนกี่ และการทอจะช่วยลดความเหลื่อมนี้ลง ซึ่งอาจใช้ลักษณะพิเศษจำเพาะนี้ เป็นเครื่องมือในการออกแบบ

การออกแบบลวดลายผ้ามัดหมี่ เป็นการใช้ช่วงจังหวะมัดเส้นไหมหรือฝ้ายเป็นเปลาะ ๆ ด้วยเชือก ในสมัยก่อนนิยมใช้เชือกกล้วย แต่ปัจจุบันเปลี่ยนไปใช้เชือกฟางแทนเพื่อความสะดวก

ลายจะคมชัดหากมัดแน่นในแต่ละจุด หากมัดหลวม สีจะซึมเลอะ ลวดลายที่สืบทอดกันมาแต่โบราณนั้น ได้อิทธิพลจากธรรมชาติ ความเชื่อ ขนมธรรมเนียมประเพณี เช่น ลายดอกแก้ว ลายต้นสน ลายโดมห้า ลายโดมเจ็ด ลายบายสี ลายกวาง ลายนกยูง ลายเต่า และลายพญานาค เป็นต้น

 

ผ้าลายน้ำไหล

เป็นผ้าที่ทอด้วยเทคนิคเกาะหรือล้วง ใช้ด้ายพุ่งหลากสีเป็นช่วง ๆ แล้วทอด้วยการเกี่ยวและผูกเป็นห่วง  (Hook and Dove – Tail) รอบเส้นยืนเป็นช่วงตามจังหวะลาย ชื่อลายต่าง ๆ เรียกไปตามลักษณะที่ทอ ได้แก่

  • ลายน้ำไหล เป็นลายทางยาวเป็นคลื่นเหมือนบันได เป็นลายต้นแบบดั้งเดิม
  • ลายจรวด เกิดจากการทอลายน้ำไหลเดิมให้มีหยักคล้ายจรวดกำลังพุ่ง
  • ลายเล็บมือ เกิดจากการนำลายน้ำไหลมาต่อกันเป็นจุด แล้วเติมเส้นเล็ก ๆ ตรงช่องว่างตรงกลาง แยกออกรอบตัวคล้ายดอกไม้หรือแมงมุม และพัฒนาลายต่อมา ด้วยการหักทุมให้ทู่แล้วสอดสีด้ายเหลื่อมเป็นชั้น ๆ
  • ลายธาตุ นำลายน้ำไหลมาซ้อนเป็นลักษณะคล้ายเจดีย์เป็นชั้น ๆ 
  • ลายกาบ ใช้เส้นด้ายหลายสีทอซ้อนเป็นชั้น ๆ

 

ผ้าขิด

เป็นเทคนิคการทอด้วยภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สืบทอดกันมานานในทุกพื้นที่ของไทย พบการผลิตผ้า

ขิดแพร่หลายมากในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในการทอ จะใช้ไม้เก็บขิดสะกิดซ้อนเครือเส้นผืนขึ้นเป็นจังหวะตามลายตลอดหน้าผ้า แล้วพุ่งกระสวยสอดเส้นพุ่งพิเศษ และเส้นพุ่งเข้าไปตลอดแนวเครือเส้นยืนที่ถูกงัดขึ้น ความถี่ห่างของเส้นยืนถูกกำหนดด้วยไม้เก็บขิด ทำให้เกิดเป็นลวดลายขิดขึ้น

การทอผ้าขิด จึงเป็นการสร้างลวดลายขณะทอผ้าบนกี่หรือหูก ใช้เส้นใยฝ้ายมากกว่าใยไหม เรามักใช้ผ้าขิดทำผ้าห่ม ผ้าปูที่นอน ผ้าห่อคัมภีร์ และทอด้วยกี่หน้าแคบเพื่อใช้เป็นหัวซิ่นและตีนซิ่น หากใช้ใยไหม จะทอเป็นผืนเพื่อตัดเสื้อผ้า

ผ้าจก

การทอจก เป็นการทอและปักผ้าไปพร้อมกัน โดยใช้วิธีเพิ่มสายเส้นพุ่งพิเศษเข้าเป็นช่วง ๆ ไม่ติดต่อกันตลอดหน้ากว้างของผ้า แล้วใช้ไม้ ขนเม่น หรือนิ้วมือจกขึ้น เป็นการทอผสมการปักกลาย ๆ แทนที่จะใช้เข็มปัก ก็ใช้ไม้แหลมหรือขนเม่นทำลวดลายไหมสอดสลับสีด้าย แต่ละท้องถิ่นมีลายเป็นเอกลักษณ์แตกต่างกัน นอกจากจะใช้ตกแต่งผ้าซิ่นแล้ว ยังทอเป็นหมอน ผ้าห่ม และสไบ

ผ้าแพรวา

เป็นผ้าที่ทอผสมลายระหว่างลายขิดกับลายจก บางแถวเป็นลายจก บางแถวเป็นลายขิด ใช้ลายจกที่เด่นและใหญ่เป็นลายหลัก ใช้ลายขิดที่เล็กกว่าเป็นลายประกอบ

ผ้าแพรวาเป็นผ้าที่มีชื่อเสียงของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ส่วนใหญ่เป็นผ้าไหม นิยมใช้คลุมไหล

ผ้าม่อฮ่อม หรือผ้าฮ่อม

เป็นผ้าย้อมสีครามด้วยต้นฮ่อมตามกรรมวิธีพื้นบ้าน นิยมใช้ทั่วไปในจังหวัดแพร่