Skip to main content

Royal Aspirations

Image

พระราชปณิธานของ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ
พระบรมราชชนนีพันปีหลวง

“...การที่ข้าพเจ้าเริ่มงานศิลปาชีพขึ้นนั้น ข้าพเจ้าตั้งใจจะสรรหาอาชีพ
ให้ชาวนาที่ยากจน เลี้ยงตนเองได้เป็นเบื้องต้น ทั้งนี้ เนื่องจากข้าพเจ้า
ได้มีโอกาสตามเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ไปเยี่ยมราษฎร
ตามชนบทมาหลายสิบปี ได้พบว่าราษฎรส่วนใหญ่เป็นชาวนาชาวไร่
ที่ต้องทำงานหนัก และต้องเผชิญอุปสรรคจากภัยธรรมชาติมากมาย 
เช่น ฝนแล้ง น้ำท่วม ศัตรูพืชระบาด เป็นต้น ทำให้ชาวนาชาวไร่เหล่านี้
มีฝีมือทางหัตถกรรมส่วนใหญ่เป็นสิ่งที่เขาใช้สอยอยู่ในชีวิตประจำวัน
... สิ่งนี้จึงเป็นแรงบันดาลใจให้ข้าพเจ้าเริ่มงานส่งเสริมการทอผ้าไหมขึ้น 
เพื่อใช้ชาวนาชาวไร่นำความสามารถของเขาเอง มายกระดับความ
เป็นอยู่ รวมทั้งเพิ่มพูนศักดิ์ศรีและความภาคภูมิใจในงานของเขา 
จนในที่สุดจึงเกิดเป็นมูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ...”

พระราชดำรัส พระราชทานในพิธีเปิดงาน
"มรดกสิ่งทอของเอเชีย : หัตถกรรมและอุตสาหกรรม"
วันที่ ๓๐ มกราคม พุทธศักราช ๒๕๓๕

Image

          สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงโปรดการใช้ผ้าไหมไทยมาตั้งแต่ทรงเป็น ม.ร.ว.สิริกิติ์ กิติยากร ด้วยความผูกพัน การใช้ผ้าไหมมัดหมี่ โดยจะทรงนุ่งซิ่นไหมมัดหมี่เพื่อเฝ้ารับเสด็จ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร อยู่เสมอซึ่งสมัยแรก การทอผ้าพื้นเมืองยังมิได้รับการสนับสนุนส่งเสริมให้แพร่หลายทรงใช้ผ้าไหมโคราชและผ้าไหมเชียงใหม่ทั้งชนิดเลื่อนและชนิดพิมพ์ หรือ ทอเป็นลายและดอกดวงต่างๆ และโปรดฉลองพระองค์ที่ตัดเย็บด้วยผ้าไหมเสมอมาจนถึงปัจจุบัน

          หากย้อนไป เมื่อปีพุทธศักราช ๒๔๙๘ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ตามเสด็จพระราชดำเนิน พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อเยี่ยมราษฎรในท้องที่ชนบททั่วทุกแห่งทั่วประเทศ ขณะโดยเสด็จฯ พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร มิได้เพียงแต่มีรับสั่งถามทุกข์สุขแล้วก็เลยไป แต่จะทรงทอดพระเนตรราษฎรที่มาคอยเฝ้าอย่างเอาพระทัยใส่และมีรับสั่งถามถึงการทำมาหากิน ชีวิตความเป็นอยู่ในครอบครัวอย่างละเอียด จะทรงครุ่นคิดและกังวลพระทัยเสมอว่าราษฎรที่ทรงพบนั้นมีความลำบาก บางคนมีลูกมากมีที่ดินทำกินน้อย หรือ ขาดที่ทำกินหรือไม่มีเลย อาชีพหลัก คือ เกษตรกรรม ซึ่งขึ้นกับสภาพของดินฟ้าอากาศที่ไม่แน่นอนเกษตรกร ต้องประสบปัญหาภัยธรรมชาติบางปีฝนแล้ง บางปีน้ำยังท่วม 

          ต่อมา ในปีพุทธศักราช ๒๕๑๓ เกิดอุทกภัยขึ้นในจังหวัดนครพนม น้ำหลากล้นแม่น้ำศรีสงครามทั้งสองฝั่งทำให้นาข้าวราษฎรเสียหายส่งผลกระทบต่อชีวิตและความเป็นอยู่ ครั้นเมื่อน้ำลด พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พร้อมด้วยสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวงเสด็จพระราชดำเนินไปเยี่ยมราษฎรที่ประสบอุทกภัยและพระราชทานเครื่องอุปโภคบริโภค เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนให้ราษฎร ในขณะเสด็จพระราชดำเนิน พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีพระราชดำริว่า การพระราชทานสิ่งของเป็นเพียงการช่วยเหลือเพื่อบรรเทาความทุกข์ยาก ของราษฎร แต่ควรสร้างอาชีพที่มีรายได้สม่ำเสมอ เพื่อให้ราษฎรมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นในระยะยาว สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงตระหนักในพระราชปรารภและทรงห่วงใยพสกนิกร ราษฎรที่ประสบอุทกภัย 

          จากการเสด็จพระราชดำเนินทรงพบว่าราษฎรที่มาเฝ้ารับเสด็จล้วนสวมใส่ผ้าไหมมัดหมี่ ลวดลาย วิจิตร สวยงาม ซึ่งน่าจะทำเป็นอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว จึงนับเป็นจุดเริ่มต้นโครงการผ้าไหมมัดหมี่ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา การทอผ้าไหมมัดหมี่ในครัวเรือนเป็นวัฒนธรรมดั้งเดิมอันดีงามของแต่ละท้องถิ่น ทรงมีพระราชดำริที่จะธำรงรักษาไว้มิให้สูญหาย โดยทรงส่งเสริมการทอผ้าไหมทุกพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้ราษฎรสามารถทำได้เองโดยไม่ต้องมีครูให้การอบรม เนื่องจากเป็นมรดกภูมิปัญญาท้องถิ่นที่มีมาแต่ครั้งปู่ย่าตายาย ทุกครัวเรือนจะรู้จักการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และทอผ้าไหมใช้เองในครัวเรือน ในช่วงแรกของการส่งเสริมโครงการทอผ้าไหมมัดหมี่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือทรงขอให้ชาวบ้านทอผ้า เพิ่มขึ้นจากที่ทอใช้เองในครัวเรือน โดยทรงรับซื้อสำหรับตัดเย็บเป็นชุดฉลองพระองค์ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ท่านผู้หญิงสุประภาดา เกษมสันต์ ราชเลขานุการในพระองค์ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และคุณหญิงจรุงจิตต์ทีขะระ นางสนองพระโอษฐ์ (ในขณะนั้น) ไปติดต่อขอซื้อผ้าไหมจากชาวบ้านในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยให้ราคาผ้าสูงกว่าทั่วไป เพื่อให้คุ้มค่าแรงงาน ขอให้ถือเสมือน “แม่ให้ลูก” โดยให้จดชื่อ และที่อยู่ของผู้ทอผ้าที่มีลวดลายเฉพาะถิ่นสวยงามเป็นพิเศษ รวมทั้งยังพระราชทานคำแนะนำให้ชาวบ้านขยายฟืม เพื่อให้สามารถทอผ้าได้ยาวขึ้นแทนที่จะทอเป็นถุงเดียว หรือ สองถุงก็สามารถทอได้หลายเมตรติดต่อกัน ทรงตรวจคุณภาพและพระราชทานคำแนะนำการทอผ้าที่ออกไปรับซื้อ โดยจะต้องระมัดระวังการย้อมสีให้เสมอกันและใช้สีที่มีคุณภาพ สำหรับเส้นไหมโปรดให้ใช้ “ไหมน้อย” เนื่องจากเป็นไหมที่สาวออกจากรังไหมชั้นในซึ่งเป็นไหมเส้นเล็ก ละเอียดไม่เป็นปุ่มปม ถือเป็นไหมชั้นดีที่สุดทำให้ผ้าที่ทอเป็นแพรนุ่ม ไม่ยับง่าย ราคาดีทำให้มีรายได้เพื่อราษฎรกินดีอยู่ดี เมื่อราษฎรอยู่ดีกินดีจะส่งผลให้สังคมมีคนดีมีคุณภาพการจัดหาอาชีพเสริมควรให้เหมาะสมกับค่าแรงและฝีมือ นอกจากนี้ยังทรงพระราชทาน สิ่งของและอุปกรณ์ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จำเป็นแก่ราษฎรผู้ทอผ้า เช่น แว่นตา ห้องเลี้ยงไหม พันธุ์ไหม พันธุ์หม่อน เป็นต้น 

          สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงทุ่มเทพระวรกายและพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ทรงรับซื้อผ้าไหมและพระราชทานอุปกรณ์ทอผ้าเสมอมาเพื่อส่งเสริมโครงการทอผ้าไหมมัดหมี่และโครงการส่งเสริมอาชีพอื่นในสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง และเมื่อวันที่ ๒๑ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๙ ได้จัดตั้งเป็นมูลนิธิ และพระราชทานนามว่า “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษ” ทรงพระกรุณารับเป็นองค์ประธานมูลนิธิและทรงรับมูลนิธินี้ไว้ในพระบรมราชินูปถัมภ์ มีวัตถุประสงค์เพื่อจัดหาอาชีพเสริมเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับราษฎรโดยอาศัยวัสดุในท้องถิ่น เพื่อไม่ให้ราษฎรละทิ้งถิ่นฐานไปทำงานที่อื่นและลดปัญหาทางสังคม รวมทั้งเพื่อธำรงรักษาและสนับสนุนศิลปหัตถกรรมไทยให้คงอยู่ ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็น “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพพิเศษในพระบรมราชินูปถัมภ์” และเปลี่ยนเป็น “มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง” และในปีพุทธศักราช ๒๕๒๒ ได้ก่อตั้งโรงเรียนฝึกศิลปาชีพในบริเวณสวนจิตรลดา เพื่อเป็นศูนย์กลางศิลปาชีพทั่วประเทศ ฝึกให้ความรู้ ทั้งหมด ๒๖ แผนก โดยฝึกการทอผ้าไหมให้มีความหลากหลายชนิดเพิ่มขึ้น เช่น ผ้าไหมแพรวา ผ้าไหมหางกระรอก ผ้าไหมลายลูกแก้ว ไหมขิด ไหมจก เป็นต้น เพื่อสืบสานอนุรักษ์และสืบทอดการทอผ้าไหมให้กว้างขวาง ทรงเห็นว่าอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหมเป็นอาชีพที่สำคัญอาชีพหนึ่งที่อยู่ภายใต้การสนับสนุนของมูลนิธิฯ ไม่เฉพาะในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทรงมีพระราชดำริให้ขยายไปทั่วทุกภาคของประเทศไม่ว่าจะเป็น

Image

          ภาคใต้ ทรงเห็นว่าหลังจากการประกอบอาชีพหลัก ได้แก่ การทำนา หรือ กรีดยางแล้ว ราษฎรยังมีเวลาว่างอยู่บ้าง น่าจะรวมกลุ่มกันประกอบอาชีพเสริมเป็นการเพิ่มรายได้ให้สูงขึ้น จึงทรงมีพระราชดำริให้ราษฎรเรียนทอผ้า โดยทรงพระราชทานอุปกรณ์ต่าง ๆ และครูไปทำการฝึกสอนให้กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม ส่งครูมาสอน ย้อมสี ย้อมทั้งผ้าฝ้าย และผ้าไหมทรงพระราชทานทั้งค่ากินอยู่ และเงินเดือนมีการส่งเสริมให้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมในบางตำบลและมีการทอผ้าไหมเกลี้ยงสีธรรมชาติด้วย

          และภาคเหนือ ทรงพระราชดำริว่าประเทศไทยมีชื่อทางผลิตผ้าไหมมานาน จึงโปรดให้หาไหมไทยส่งไปให้ทอ เพราะชาวเชียงใหม่ไม่นิยมปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ได้แต่ซื้อจากที่อื่น ครั้งแรกใช้ไหมพันธุ์ต่างประเทศเป็นเส้นยืน และไหมไทยพันธุ์ พื้นเมืองเป็นเส้นพุ่ง ต่อมาส่งครูอีสานไปสอนฟอกไหมและปั่นไหม จึงทอด้วย ไหมไทยพันธุ์พื้นเมืองทั้งเส้นยืน และเส้นพุ่ง นอกจากนี้ยังสอนทอจกและผ้ายก อย่างง่าย ยกดอกพิกุลและยกเป็นจกทั้งตัว ซึ่งทำได้ดีไม่แพ้คนที่ทอผ้าอาชีพและ มีความชำนาญมาก่อน เมื่อการฝึกทอผ้าเป็นผลขึ้นแล้ว ต่อมาจึงทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงฝึกทอผ้าขึ้น และพระราชทานชื่อว่า โรงฝึกทอผ้า พระราชทาน

Image

          ภายหลังเมื่อสร้างพระตำหนักภูพานราชนิเวศน์เป็นที่ประทับ ยามเสด็จ พระราชดำเนินจะโปรดเสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมราษฎรจนถึงบ้านอย่างทั่วถึง สมาชิกกลุ่มผ้าไหมจึงมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ในการเสด็จฯ เยี่ยมและตรวจงาน สมาชิกศิลปาชีพ บางครั้งพระองค์จะประทับทรงงานอยู่กับที่นานนับหลายๆ ชั่วโมง เช่น เมื่อวันที่ ๒๑ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๒๖ เสด็จฯ ออกจากพระตำหนักภูพาน ราชนิเวศน์ตั้งแต่เวลา ๑๑.๐๐ น. ไปยังวัดถ้ำกลองเพล จังหวัดอุดรธานี เมื่อเสด็จฯ ถึงจะเริ่มทรงงานทันที มีชาวบ้านนำผลงานมาถวายให้ทอดพระเนตรเนืองแน่น ไม่ขาดสายได้ทรงตรวจงานอยู่อย่างไม่ย่อท้อ วันนั้นเสด็จฯ กลับถึงพระตำหนัก เป็นเวลาเกือบ ๐๔.๐๐ น. ของวันใหม่ และในบางพื้นที่ที่เสด็จพระราชดำเนินไป ตามหมู่บ้านเพื่อช่วยเหลือราษฎรยากจน ซึ่งอยู่ในถิ่นทุรกันดาน ซึ่งยากจนหนัก และอยู่ในเขตผู้ก่อการร้าย ทรงส่งเสริมให้ราษฎรประกอบอาชีพซึ่งก่อให้เกิดรายได้ ราษฎรที่เคยอดอยากยากแค้นจึงมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทำมาหากินเลี้ยงครอบครัว ให้อยู่ดีกินดีและรักถิ่นฐานบ้านช่อง ไม่คิดที่จะละทิ้งไปหางานทำในเมือง เมื่อเสด็จ พระราชดำเนินไปทรงเยี่ยมและถ้าชาวบ้านบ่น เรื่องความยากจนจะรับสั่งให้ทอผ้า และส่งผ้ามาให้พระองค์จะทรงรับซื้อเอง เพื่อจะได้มีเงินส่งให้ลูกเรียนหนังสือ เป็น พระราชประสงค์ที่จะให้ราษฎรมีการศึกษาสูงขึ้น เพื่อจะได้เป็นคนที่มีคุณภาพ และจะได้มีโอกาสทำมาหารายได้ที่ดีขึ้นด้วย ชาวบ้านที่ได้รับรายได้จากการทอผ้า ต่างซาบซึ้งในพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่ง

          เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๕ มีผู้นำเข้าเส้นไหมและเส้นใยสังเคราะห์อื่นจากต่างประเทศ ทำให้ผ้าไหมไทยมีคุณภาพด้อยลงแต่ผู้ผลิตยังคงเรียกว่า “ผ้าไหมไทย” หรือ “Thai Silk” เพื่อการค้า ส่งผลให้ผู้ซื้อทั้งในและต่างประเทศไม่มั่นใจในคุณภาพของผ้าไหมไทยสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง มีพระราชกระแสรับสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาสาเหตุและแนวทางแก้ไขเพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจในผ้าไหมไทย ซึ่งได้กำหนดเป็นข้อบังคับการใช้เครื่องหมายรับรองตาม บทบัญญัติ มาตรา ๘๒ แห่งพระราชบัญญัติเครื่องหมายการค้า สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานสัญลักษณ์ นกยูงไทยให้เป็นเครื่องหมายรับรองคุณภาพผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทย โดยแบ่งออกเป็น ๔ ชนิด ได้แก่ ตรานกยูงพระราชทาน สีทอง (Royal Thai Silk) สีเงิน (Classic Thai Silk) สีน้ำเงิน (Thai Silk) และสีเขียว (Thai Silk Blend) ปัจจุบันจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายรับรองผลิตภัณฑ์ผ้าไหมไทยในต่างประเทศไปแล้ว รวม ๓๖ ประเทศ และในปีเดียวกันนี้คณะกรรมาธิการหม่อนไหมระหว่างประเทศได้ทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายรางวัลหลุยส์ปาสเตอร์ แด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ในฐานะที่ทรงมีพระอัจฉริยภาพ พระปรีชาสามารถ และทุ่มเทเสียสละอุทิศพระวรกายศึกษาพัฒนาหม่อนไหมไทย และนานาประเทศ ตลอดจนอนุรักษ์ภูมิปัญญาทางศิลปวัฒนธรรม และส่งเสริมสนับสนุนผ้าไหมไทยซึ่งถือเป็นเอกลักษณ์ของชาติ สามารถสร้างรายได้ความเป็นอยู่ ของเกษตรกร อาชีพที่มั่นคงและพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืน

Image

ตรานกยูง

พระราชทานสีทอง

 

ผลิตโดยใช้เส้นไหมและวัตถุดิบ ตลอด จนกระบวนการผลิตทีเป็นการอนุรักษ์ ภูมิปัญญาพืนบ้านดังเดิมของไทย

Image

ตรานกยูง

พระราชทานสีเงิน

 

ยังคงอนุรักษ์ภูมิปัญญาพืนบ้านผสม ผสานกับการประยุกต์ใช้เครื่องมือและ กระบวนการผลิตในบางขันตอน

Image

ตรานกยูง

พระราชทานสีน้ำเงิน

 

เป็นผ้าไหมชนิดทีผลิตด้วยภูมิปัญญา ของไทยแบบประยุกต์ ใช้เทคโนโลยีการ ผลิตเข้ากับสมัยนิยมและเชิงธุรกิจ

Image

ตรานกยูง

พระราชทานสีเขียว

 

ผ้าไหมทีผลิตด้วยกระบวนการผลิต และเทคโนโลยีสมัยใหม่ทีผสมผสานกับ ภูมิปัญญาไทยในด้านลวดลาย